เมื่อพูดถึงประสิทธิภาพในแง่ของความสมรรถนะการขับเคลื่อน และความประหยัดน้ำมัน คนส่วนใหญ่มักจะมุ่งเน้นและเข้าใจว่าเครื่องยนต์ หรือระบบต่างๆ ที่อยู่ในตัวรถนั้นคือ ผู้เล่นหลัก ที่จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ทางด้านนี้ ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และถูกเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่ทั้งหมดเท่านั้นเอง
เพราะอีกปัจจัยที่คนมักจะหลงลืมคือ การออกแบบตัวรถให้สอดคล้องกับหลักอากาศพลศาสตร์ หรือ Aerodynamic ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่สำคัญ และส่งผลโดยตรงต่อสมรรถนะในด้านต่างๆ ของตัวรถ ซึ่งประเด็นนี้ พวกที่อยู่ในวงการรถแข่งที่จะต้องพิจารณาจากหลากหลายปัจจัยย้อมทราบดีถึงความสำคัญของ Aerodymanic และนี่คือที่มาของการนำ Aerodynamic มาเป็นจุดเด่นในการพัฒนารถ และแสดงให้เห็นว่า งานออกแบบสามารถสร้างผลกระทบต่อตัวรถในด้านต่างๆ ได้อย่างไร กับ Mercedes-Benz IAA Concept
ต้นแบบรุ่นนี้ถูกเปิดตัวออกมาในงาน IAA หรือ Frankfurt Motorshow 2015 เมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ทว่า Benz ก็ยังออกจัดแสดงตามงานมอเตอร์โชว์ต่างๆ หลังจากนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า Aerodynamic มีความสำคัญ อย่างไรกับสมรรถนะของตัวรถ
นอกจากนั้นในเชิงของการออกแบบ ด้วยรูปทรงที่ดูสวยและแปลกตาบวกกับโอกาสที่ CLS-Class กำลังใกล้จะถึงการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ทำให้หลายฝ่ายคาดว่า AIA Concept อาจจะได้รับการพัฒนา เพื่อนำเส้นสาย หรือรูปทรงโดยรวมของตัวรถมาใช้ต่อยอดในการออกแบบเพื่อเป็นคันจริงต่อไปในอนาคต
หลายคนอาจจะคิดว่าด้วยการเปิดตัวในงาน IAA ก็เลยทำให้ต้นแบบคันนี้ใช้ชื่อเดียวกับงาน แต่ความจริงแล้วเป็นการเล่นมุขของค่าย Benz เพราะว่า IAA ที่เป็นชื่อรถยนต์นั้นมาจากคำย่อ Itelligent Aerodynamic Automobile ไม่ใช่ Internationale Automobil-Ausstellung ตามชื่องาน แล้วต้นแบบคันนี้มีความฉลาดตรงไหน ?
เมื่อดูตามชื่อแล้วก็คงทราบกันดีว่าจะต้องเป็นที่งานออกแบบตัวถังอยู่แล้ว เราหมายถึงเรื่องของรูปทรง โดยรวม และการนำเทคโนโลยีหรือเทคนิคเข้ามาใช้ด้วย
รูปลักษณ์ภายนอกสวยโดดเด่น
ใครที่เป็นแฟนของ Benz เชื่อว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของการนำเสนอเส้นสาย และสไตล์การออกแบบของตัวรถที่มีความ ‘กล้า’ ในการฉีกความซ้ำซากที่ค่ายนี้พยายามคงเอาไว้ จนกลายครั้งทำให้ ตัวรถดูน่าเบื่อ ไม่มีสีสัน และขาดความเร้าใจ และนี่คือ อีกครั้งของการปฏิวัติแนวคิดในการนำเสนอ
IAA Concept มากับตัวถังที่มีลักษณะท้ายลาด คล้ายกับ CLS-Class ซึ่งเป็นรถยนต์รุ่นแรกๆ ที่นำเส้นสายแบบนี้มาใช้ และได้รับการตอบนับที่ดีจากลูกค้าทั่วโลก ขณะที่รูปลักษณ์ด้านหน้า มาพร้อมความทันสมัยด้วยการรวม 3 อย่างเข้าด้วยกัน คือ ไฟหน้า กระจังหน้า และช่องดักลมด้านหน้า ทำให้ตัวรถดูสวยและล้ำสมัยอย่างมาก และเมื่อมองจากด้านท้ายเราจะพบกับความไฮเทคในการนำเสนอในด้านความโฉบเฉี่ยวของรูปลักษณ์ กับกันชนท้ายที่ได้รับการออกแบบให้มีช่องซี่แนวนอนขนาดใหญ่คล้ายกับด้านท้ายของรถสปอร์ตระดับไฮเอนด์ และเสริมด้วยความสปอร์ตของไฟท้ายที่มีลักษณ์เป็นตัว U คว่ำ วางตัวอยู่ด้านบน
พลังแห่ง Aerodynamic
ไฮไลท์ของต้นแบบคันนี้ คือ เวทย์มนต์แห่ง Aerodynamic เพราะอย่างที่เกริ่นตั้งแต่ต้น ในมุมมอง ของวิศวกรยานยนต์ ทุกส่วนของตัวรถมีความสำคัญหมดไม่ว่าจะด้านใดด้านหนึ่ง เพียงแต่จะมีมีมากหรือน้อยนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และในตอนนี้ Aerodynamic กำลังได้รับการยกระดับของความสำคัญให้มากขึ้นกว่าเดิม
เมื่อมองจากภายนอกแล้ว แม้ว่าจะเป็นต้นแบบที่เรามีอิสระในการสร้างสรรค์ตัวรถได้ตามใจชอบนั้น แต่ทว่าค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทาน หรือ Cd ของตัวรถกลับไม่ได้โดดเด่นอะไรเมื่อมองจากตัวเลขที่ทาง Benz เปิดเผย เพราะว่า IAA Concept มากับค่า Cd เพียง 0.25 เท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ในสายการผลิต อย่าง CLA ที่เปิดตัวเมื่อปี 2013 และว่ากันว่าเป็นรถยนต์ซึ่งมีค่า Cd น้อยที่สุดในไลน์ผลิตของ Benz แล้ว ตัวเลขของ AIA Concept ยังห่างไกล เพราะ CLA-Class มีตัวเลขอยู่ที่ 0.22
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า AIA Concept จะมีอะไรด้อย เพราะจุดมุ่งหมายของการพัฒนารถยนต์รุ่นนี้คือ การออกแบบให้ชิ้นส่วนตัวถังมีการขยับเพื่อปรับค่า Cd ให้เปลี่ยนแปลงไปตามรูปแบบการใช้งาน ถ้านึกภาพไม่ออก ลองนึกถึงชิ้นส่วนบนปีกของเครื่องบิน ซึ่งสามารถขยับขึ้นหรือลงได้…ช่างไฮเทคอะไรเช่นนี้
ปรับเปลี่ยนเพื่อสมรรถนะที่ดีขึ้น
จากการเปิดเผยของ Benz ระบุว่า ตัวรถต้นแบบคันนี้สามารถเปลี่ยนแปลงค่า Cd ของตัวรถจาก 0.25 ให้อยู่ในระดับ 0.19 ได้ ด้วยการขยับตัวของชิ้นส่วนต่างๆ บนตัวถัง และไม่ใช่แค่ส่วนเดียว แต่หลายจุดบนตัวถัง กระจังหน้า ซึ่งเราเกริ่นถึงเมื่อข้างต้นนั้น ก็สามารถปิดพับลงมาได้เหมือน กับช่องแอร์ในบางจังหวะ ที่รถไม่ต้องการใช้แรงลมเพื่อเข้ามาทำหน้าที่ระบายความร้อนของเครื่องยนต์สันดาปภายใน ขณะที่แผ่นลิ้นชายล่าง หรือ Splitter ซึ่งผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ ก็สามารถขยับได้ เช่น เมื่อขับด้วยความเร็วต่ำ ก็จะเลื่อนเข้าไป เพื่อป้องกันไม่ให้ทำอัตรายกับคนเดินถนน หากเกิดถูกชน
แต่เมื่อความเร็วเพิ่มขึ้น และ Aerodynamic จะเป็นต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ตัว Splitter นี้ก็จะยื่นออกมาเพื่อจัดเรียงกระแสลมปะทะด้านหน้าของตัวรถให้ไหลผ่านด้านล่างของตัวรถอย่างเป็นระเบียบ และเพื่อช่วยให้ตัวรถมีการทรงตัวที่ดี ขณะเดียวกับช่องที่อยู่ตรงปลายกันชนหน้าหน้าทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งดูเหมือนกับครีบ หรือ Grill ในการทำหน้าที่ ระบายความร้อนนั้นก็มีการขยับตัวได้เช่นกัน คือ เดินหน้าประมาณ 25 มิลลิเมตร และถอยหลัง 20 มิลลิเมตร เพื่อลดอาการกระแสลมหมุนวนอย่างไม่เป็นระเบียบจนเกินลมต้าน ตรงบริเวณซุ้มล้อ ซึ่งจะก่อให้เกิดการส่งผล ต่อสมรรถนะ และความประหยัดน้ำมัน
ส่วนล้อรถ จริงอยู่ที่มากับขนาด 22 นิ้ว แต่ทว่ากลับมีหน้ากว้างของยางและล้อที่แคบกว่าที่คิดเยอะ และใช้ยางหน้ากว้างแบบพิเศษ 235 ที่ทาง Continental ผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษ ขณะที่ลวดลายของล้อที่ค่อนข้างลึกเข้าไป และมีลักษณะคล้ายกับใบพัดของพวกเครื่องเจ็ตนั้นยังช่วยในเรื่องของการเป็นช่องทางในการนำลมเข้าสู่ระบบเบรกเพื่อระบายความร้อน และเมื่อความเร็วเกิน 50 ไมล์/ชั่วโมง หรือ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง ลายของล้อจะปิดทึบเพื่อลดแรงต้านของลมและเพิ่มประสิทธิภาพ Aerodynamic ของตัวรถ สำหรับด้านท้าย น่าจะเรียกว่าเป็นไฮไลท์เด่นของรถยนต์ต้นแบบคันนี้ เพราะว่าตัวรถมากับแนวคิดในแบบ LT หรือ Long Tail เหมือนกับรถแข่ง Le Mans และยังสามารถยืดตัวถังออกไปได้อีก 390 มิลลิเมตร ชิ้นส่วนตัวถังเหล่านี้ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ ทำให้ง่ายต่อการติดตั้ง ดัดแปลง และรองรับ กับการใช้งานที่หลากหลายขึ้น โดยที่ประเด็นในแง่ของน้ำหนักตัวรถและความเบาของวัสดุ ยังเป็นอีก ปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กันในการช่วยเพิ่มสมรรถนะและความประหยัดน้ำมัน โดยชิ้นส่วนหลัก ของต้นแบบคันนี้จะถูกผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์ และอะลูมิเนียม
ผลลัพธ์ของแนวคิด
ว่ากันว่าผลของการติดตั้งเทคโนโลยีเหล่านี้ ทำให้เราสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ถึง 3 กรัมต่อการแล่น 1 กิโลเมตรจากการคำณวนผ่านทางข้อกำหนดของ EU และทาง Benz เองก็อ้างว่า เมื่อขับด้วยความเร็วในระดับ 90 ไมล์/ชั่วโมง หรือ 155 กิโลเมตร/ชั่วโมงจะลดลงได้อีก 20 กรัม/ 1 กิโลเมตร อีกดทั้งด้วยการที่ตัวรถใช้ระบบ Plug-in Hybrid ทำให้ช่วงของการใช้ระบบไฟฟ้า ซึ่งอาศัยกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่ จะลดลงได้อีก 28 กรัม/ 1 กิโลเมตร และในระบบ EV ของรถยนต์รุ่นนี้สามารถเล่นในโหมดไฟฟ้าได้ไกลถึง 40 ไมล์ หรือ 65 กิโลเมตร
อาจจะดูแล้วไม่มาก แต่ถ้ารถยนต์ส่วนใหญ่ หรือเกือบทุกคันในโลกสามารถประหยัดและช่วยลดการ ปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ลงได้ โลกของเราคงจะน่าอยู่กว่านี้